ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลคืออะไรควรทำหรือไม่
ประกันภัยอุบัติเหตุ เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย ประสบอุบัติเหตุได้รับความบาดเจ็บทางร่างกายในกรณีต่างๆ เช่น รถชน , หกล้ม หรืออื่นๆที่อยู่ในข่ายของคำว่า อุบัติเหตุ ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะสำคัญ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยที่ทำประกันไว้ จะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย หรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหากผู้เอาประกันภัยต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบัน ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จะถูกแอบแฝงมากับบริการทางธนาคารเช่น บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต ดังนั้นเรามาศึกษาข้อมูลกันคร่าวๆก่อนว่ามันคุ้มครองอะไรและดีหรือเปล่าหากคุณได้มันมาโดยไม่รู้ตัว
การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลมีแบบความคุ้มครองให้เลือกดังนี้
กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และการประกันอุบัติเหตุแบบกลุ่มนั้น (เช่นประกันนักเรียน) จะมีแบบกรมธรรม์ให้เลือก 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ แบบ อบ. 2 และกรมธรรม์แบบ อบ. 1 จะให้ความคุ้มครองน้อยกว่า แบบ อบ. 2
กรมธรรม์แบบ อบ. 1 จะมีความคุ้มครองให้เลือก 4 ความคุ้มครอง ได้แก่
- การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
- การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง
- การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน และ
- การรักษาพยาบาล
กรมธรรม์แบบ อบ. 2 จะมีความคุ้มครองเพิ่มจากแบบ อบ. 1 คือ การสูญเสียนิ้ว , การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน
หมายเหตุ
**สำหรับในกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษานั้น จะมีเฉพาะแบบ อบ. 1 เท่านั้น **
**การประกันอุบัติเหตุ โดยปกติแล้วกรมธรรม์จะให้ความคุ้มครองในกรณีการถูกฆ่า หรือ ถูกทำร้ายร่างกายด้วย ไม่ว่าการถูกฆ่าหรือถูกทำร้ายร่างกายจะเป็นโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม และหากผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ตัวเองนั้นไม่มีความเสี่ยงในการถูกฆ่า หรือ ถูกทำร้ายร่างกาย สามารถเลือกที่จะไม่เอาประกันภัยในส่วนนี้ได้ และจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยไป **
ข้อยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ
อย่างที่กล่าวข้างต้นไว้ว่าการประกันภัยอุบัติเหตุ จะมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองที่เป็นความเสี่ยงภัยพื้นฐานของคนโดยทั่วไปเท่านั้น ดังนั้นจึงมีการกำหนดข้อยกเว้นในกรมธรรม์ ที่จะไม่ให้คุ้มครองและยกเว้นการจ่ายค่าชดเชยในเหตุการณ์บางอย่าง อาทิเช่น
- เกิดอุบัติเหตุการกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุราหรือยาเสพติด จำง่ายๆคือ เมาแล้วเจ็บประกันไม่จ่าย
- เกิดการฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกายตนเอง ข้อนี้จะเหมือนกับประกันชีวิตคือ ฆ่าตัวตายหรือวางแผนให้ตัวเองตายประกันไม่จ่ายเงินแน่นอน
- เกิดการแท้งลูก ข้อนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุประกันไม่จ่ายชัวร์
- ได้รับบาดเจ็บเหตุจากสงคราม การปฏิบัติ การกบฎ
- ได้รับบาดเจ็บเกิดอุบัติการจลาจล การนัดหยุดงาน การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายลุกฮือต่อต้านรัฐบาล
- ได้รับบาดเจ็บการแผ่รังสีหรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์
- ได้รับบาดเจ็บการเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย เช่น การดำน้ำ , การเล่นบันจี้จั๊มพ์, เล่นสกี ,การแข่งรถ, หรือกีฬาอันตรายต่างๆนอกเหนือจากที่กล่าวมา
- ได้รับบาดเจ็บขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ (ข้อนี้ต้องใช้สิทธิความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.)
- ได้รับบาดเจ็บขณะที่โดยสารอยู่ในเครื่องบินที่มิใช่สายการบินพาณิชย์ เช่น เฮลิคอปเตอร์
- ได้รับบาดเจ็บขณะที่เข้าร่วมการทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรม หรือหลบหนีการจับกุม
- ได้รับบาดเจ็บขณะที่เข้าปราบปรามหรือปฏิบัติการทางสงครามหากผู้เอาประกันภัยเป็นทหาร,ตำรวจ หรืออาสาสมัคร